PCI ช่องเสียบอุปกรณ์ ต่าง ๆ อาทิ การ์ดเสียง การ์ด Network คืออะไรมาอ่านกัน

PCI ย่อมาจาก Peripheral Component Interconnection คือช่องเสียบอุปกรณ์ ต่าง ๆ อาทิ การ์ดเสียง การ์ด Network โมเด็มแบบ Internal แม้กระทั่งการ์จอ เพื่อให้อุปกรณ์ทำงานควบคู่ไปกับซีพียูได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง PCI มีความสามารถที่จะส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง โดยมีแบนด์วิดท์ (Band width) อยู่ที่ 32 บิต และ 64 บิต โดย PCI แบบ 64 บิตนี้เราจะเรียกว่า PCI-X โดยความเร็วในการส่งข้อมูลของ บัส 32 บิตนั้นสามารถทำความเร็วในการส่งข้อมูลได้ถึง 132 MB/Sec แต่ถ้าเป็นบัสขนาด 64 บิต เราจะได้ความเร็วอยู่ที่ 264MB/Sec ซึ่งเหมาะกับการใช้งานที่เกี่ยวกับกราฟฟิกที่ต้องการความละเอียดสูง

ผู้ที่คิดค้นและพัฒนา PCI (Peripheral Component Interconnection) ก็คือ INTEL ซึ่งได้มีการพัฒนา PCI มาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันนี้มีการพัฒนามาแล้ว 3 รุ่นด้วยกันคือ

1. PCI 2.0 ทำงานที่ความเร็ว 30-33MHz
2. PCI 2.1 สนับสนุนการทำงานที่ความเร็ว 66MHz
3. PCI 2.2 สนับสนุน slot ได้สูงถึง 5 slot และยังรองรับ PCI card แบบ Bus Master

ส่วน PCI Express ก็เป็นการพัฒนาเพิ่มเติมจาก PCI เพื่อมาทดแทนการใช้งาน AGP และ PCI BUS แบบเดิม โดยความสามารถของ PCI Express นั้นจะส่งข้อมูลได้เร็วถึง 250 MB/sec และความสามารถอีกอย่างหนึ่งของ PCI Express ก็คือการส่งข้อมูลแบบ 2 ทางพร้อมกัน (Full-Duplex)สูงถึง 500 MB/sec ซึ่งจะแตกต่างจากการส่งของ PCI แบบเดิมที่จะส่งข้อมูลเพียงทางเดียวเท่านั้น

ประโยชน์ของพอร์ต PCI นั้นสามารถแบ่งออกมาเป็นข้อ ๆได้ดังนี้

1. พอร์ต PCI เป็นสามารถตรวจสอบอุปกรณ์ที่ติดตั้งได้อัตโนมัติ ไม่เหมือนกับพอร์ตรุ่นเก่า VL ซึ่งทำงานได้ช้า การติดตั้งอุปกรณ์ทำได้ยากเพราะในการติดตั้งอุปกรณ์แต่ละครั้งต้องมีการเซ็ทค่าของจัมเปอร์ทุกครั้ง ซึ่งพอร์ต PCI ไม่ต้องเซ็ทค่าอะไร เมื่อเสียบอุปกรณ์ลงไปแล้วก็สามารถทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้เลย ซึ่งระบบนี้เรียกว่า Plug and Play นั่นเอง
2. พอร์ต PCI สามารถที่จะตรวจสอบความผิดพลาดต่างๆได้พร้อมทั้งรายงานการผิดพลาดขณะส่งถ่ายข้อมูล
3. พอร์ต PCI มีระบบการทำงานที่รวดเร็ว เพราะการเข้าถึงอุปกรณ์แต่ละตัวที่มีการติดตั้งนั้นจะใช้เวลาไม่นาน และมีการเตรียมเขียนและอ่านคำสั่งไว้ล่วงหน้าเพื่อไม่ให้มีการเสียเวลาในการอ่านและเขียนคำสั่งต่อไป

สรุปรวมแล้วพอร์ต PCI นั้นเป็นพอร์ตที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆได้ทันทีโดยไม่ต้องเซ็ทค่าต่างๆ ให้ยุ่งยากเพียงแต่ลงไดร์เวอร์เพิ่มเติมก็เป็นอันเสร็จ ซึ่งในปัจจุบันไดร์เวอร์ต่าง ๆจะมีอยู่ในระบบปฎิบัติการณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เปรียบเสมือนว่าเราไม่ต้องลงไดร์เวอร์ให้ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อนแล้วนั่นเอง